วันนี้จะมาลองรีวิวหนังสือที่เกี่ยวกับรัสเซียหน่อย คงไม่ว่ากันนะครับ
ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพราะน้องอาร์มที่มาเรียนแพทย์ที่ตูลา
ถือติดไม้ติดมือมาอ่านบนเครื่องบิน
ตอนแรกผมไม่ได้ใส่ใจกับหนังสือเล่มนี้อะไรมากมาย
แต่ที่มาสนใจเพราะเมื่อเปิดดูด้านในแล้วมีรูปและเนื้อหาเกี่ยวกับรัสเซีย
และยังบังเอิ๊ญบังเอิญเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางในรถไฟ
สายทรานส์ไซบีเรียที่เพิ่งลงในเว็บหมีขาว (โดยคุณมาซาจากเว็บพันทิป)
แต่ที่แตกต่างกันคือ ผู้เขียนหนังสือเดินทางจากจีนไปสู่มอสโกครับ
เกริ่นนำเรื่องของผมเกี่ยวกับการเดินทางโดยรถไฟในรัสเซียก่อน
ผมเองนอกจากรถไฟฟ้า BTS กับ MRT แล้ว
ยังไม่เคยขึ้นรถไฟบนดินที่ประเทศไทยเลยครับ
แต่เมื่อมาถึงรัสเซียวันแรกวันที่ 14 กันยายน 2550
ผมได้นั่งรถไฟบนดินครั้งแรกที่รัสเซียนี้เอง
ถามถึงความรู้สึกครั้งแรกนั้นไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไหร่ ทำไมล่ะ?
กว่าจะได้ขึ้นรถไฟผมรออยู่ที่สนามบินกับเพื่อนๆที่บินมากันสี่คน
ตั้งแต่มาถึงประมาณห้าโมงเย็น ถึงสามทุ่ม ทั้งง่วงและหนาว
ยังดีที่ในสนามบินมีฮีตเตอร์
แต่ถ้าให้ออกมาด้านนอกชุดที่ผมใส่มาจากไทยกันหนาวได้ไม่กี่นาทีแน่นอน
พอขึ้นรถไฟปุ๊บ เจ้าหน้าที่รถไฟมาเคลมปั๊บ
คนที่มารับเราจากสนามบินบอกว่า
“กระเป๋าเยอะต้องเสียค่าปรับนะ”
มาวันแรกก็โดนซะแล้วครับ
(หลังจากครั้งนั้นผมนั่งรถไฟอีกหลายรอบได้
ของก็พะรุงพะรังไม่แพ้วันแรก แต่ไม่ยักจะโดนเก็บค่าปรับแฮะ)
ผมนั่งจากสนามบินเพื่อเข้ามอสโก เมื่อถึงมอสโกแล้วเราต้องเปลี่ยน
รถไฟเพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งปลายทางของผมคือ”รัสตอฟนาดานู”
บรรยากาศเดียวกับในหนังสือดาวหางเหนือทางรถไฟเลยครับ
ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำตู้ก็สื่อสารไม่ได้ แต่ยังดีที่เวลาไม่ได้ห่างกันห้าชั่วโมง
ผมกับเพื่อนได้นอนชั้นบน กระเป๋าก็วางด้านล่างไม่ได้
ต้องแบกขึ้นไปจากพื้นสู่ที่วางซึ่งเหนือจากเตียงชั้นบนของผมไปอีก
แต่ถึงอย่างไรผมก็ปลอดภัยถึงที่หมาย
หลังจากปีผมที่ต้องนั่งรถไฟจากมอสโกสู่รัสตอฟนาดานู ตลอดยี่สิบห้าชั่วโมงแล้ว
ไม่มีน้องที่ได้ทุนมาเรียนรัสตอฟคนไหนจะสานต่อเส้นทางผมเลยสักคนเดียว
มีแต่นั่งตรงจากกรุงเทพ สู่สนามบินรัสตอฟเลย
หลังจากครั้งนั้นผมได้มีโอกาสนั่งรถไฟอีกหลายเที่ยว รวมๆแล้วประมาณ
เจ็ดเที่ยว สี่เมือง ได้แก่ รัสตอฟนาดานู มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และ ตูลา
สายที่ยาวที่สุดที่เคยนั่งคือ รัสตอฟนาดานู – เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ระยะทางรวม 1947 กิโลเมตร ระยะเวลาเดินทาง 36 ชั่วโมง
วกกลับมาที่หนังสือ ดาวหางเหนือทางรถไฟ กันต่อ
ผมได้อ่านแล้วก็มีความคิดว่าอยากแนะนำให้คนที่สนใจรัสเซียอ่านเล่มนี้มาก
ผมอ่านแล้วก็อินกับหนังสือเพราะความรู้สึกของผู้เขียนที่บรรยายผ่านตัวหนังสือ
มันคือความรู้สึกเดียวกับความรู้สึกของผมที่ได้นั่งรถไฟของรัสเซียครั้งแรกไม่ผิดเพี้ยน
แต่จะต่างตรงที่ความรู้สึกของผู้เขียนนั้นจะตราตรึงกับผู้เขียนไปตลอดชีวิต
แต่ความรู้สึกของผมนั้นเหมือนจะเลือนลางหายไปตามกาลเวลา
เพราะว่าผมอยู่รัสเซียนานๆ ความรู้สึกของผมก็เลยชินชาและเห็นว่าสิ่งนั้น
เป็นเรื่องปกติที่ผมพบเจออยู่ทุกวัน
ความรู้สึกประทับใจแบบแปลกๆของผู้ที่มาท่องเที่ยวรัสเซียจะเห็นได้
ตามหนังสือ เว็บไซต์ต่างๆ แล้วมันประทับใจแปลกๆยังไง?
มันแปลกเพราะว่าผู้ที่มาเยือนรัสเซียจะกลับไปแบบหน่วงๆ
มันทั้งสุขที่ได้มาเห็นสิ่งสวยงาม ตระการตาแบบแปลกๆที่บ้านเราไม่มี
มันทั้งทุกข์ที่ได้มาเจอผู้คนที่ไม่ค่อยจะเป็นมิตร พูดภาษาอังกฤษไม่ได้
อาจจะถึงเจอประสบการณ์โดนขโมยของหรือเฉียดคุกเฉียดตาราง
แบบที่คุณทรงกลดเจอมาก็เป็นได้
หนังสือเล่มนี้ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษรได้อย่างที่เรียกได้ว่า
ไม่ใช่หนังสือท่องเที่ยวทั่วไป แต่ยังเป็นวรรณกรรมที่ผู้เขียน
แสดงทั้งสีสันและอารมณ์ เปรียบเทียบสิ่งต่างๆได้อย่างน่าอ่าน
ถ้าสนใจรัสเซีย สนใจทรานส์ไซบีเรีย ลองหามาอ่านดูครับ
สัมผัสกับเรื่อง ราวของผู้ชายที่หลงรักการนั่งรถไฟ แล้วคิดการใหญ่ตีตั๋วคนเดียว เดินทางท่องเที่ยวไปบนเส้นทางรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลก “ทรานส์ไซบีเรีย” ยาวแค่ไหน? ถ้านั่งแบบรวดเดียวใช้เวลา 6 วันเต็มๆ ระหว่างอยู่บนรถไฟต้องหมุนเข็มนาฬิกาเปลี่ยนเวลา 4 ครั้ง เป็นการเดินทางจากประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกและค่อนข้างหนาว สู่ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกและหนาวที่สุดในโลก!
ตลอดระยะเวลา 14 วัน ผ่าน 3 ประเทศ อันได้แก่ จีน มองโกเลีย และรัสเซีย เขาได้พบกับบรรพบุรุษของมนุษย์และบรรพบุรุษชาวไทย รวมถึงดอกไม้ในถ้วยชา ปลาคาร์พในสุขา ความลับในหิมะ ปีใหม่ในรถไฟ พร้อมทั้งเสียงร้องของแมมมอธ และตัวเดียวอันเดียว แต่หลายอัน! ตลอดจนประสบการณ์มากมายที่ไม่มีรูปถ่ายมายืนยัน และความสัมพันธ์ระหว่างดาวหางกับทางรถไฟ… แม้ส่วนใหญ่จะเป็นการเดินทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่อยากให้เป็น นัก… แต่ทุกประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอ จะช่วยเติมเต็มมุมมองในการใช้ชีวิตของคุณได้เป็นอย่างดี…
Tags: ดาวหางเหนือทางรถไฟ, ทรานสไซบีเรีย, รถไฟ, รัสเซีย, หนังสือ
blog comments powered by Disqus
Readers Comments (View Comments)